เป็นหลักสูตรการปฏิบัติในแนวทางอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อให้เข้าถึงอริยสัจ ๔ ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยจะมีการบรรยายประกอบสื่อเพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเวลาอันสั้น ด้วยการใช้คำสอนหลักคือพุทธพจน์และนำมาสาธยายให้เข้าใจและปฏิบัติได้จริงในชีวิตของทุกๆคน
มัคคานุคาหมายถึงผู้เดินตามมรรค อันเป็นหนทางเพื่อเข้าถึงอริยสัจ 4 อันเป็นแก่นธรรมสูงสุดของพุทธศาสนา หนทางดังกล่าวประกอบด้วยมรรคมีองค์แปดประการ ซึ่งย่นย่อลงมาได้เป็น ปัญญา ศีล และ สมาธิ หลักสูตรมัคคานุคาเบื้องต้นนี้มุ่งเน้นการปรับความเห็นและมุมมองในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของผู้เข้าอบรม ความเห็นถูกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการลด ละ อัตตา ตัวตน อันเป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนานี้เรียกว่า สัมมาทิฐิ ซึ่งเป็นมรรคองค์แรกของอริยมรรคมีองค์แปดตามคำสอนของพระพุทธองค์ มิใช่ความเห็นถูกตามเหตุผลของนักปรัชญาหรือใครคนใดคนหนึ่ง
หลักสูตรพื้นฐาน จะเป็นการปูพื้นให้เกิดสัมมาทิฏฐิและเข้าใจหลักการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ผู้เข้าร่วมจะสามารถเข้าใจ สมถะและวิปัสสนา ขันธ์๕ มรรค อริยสัจ โดยตั้งเป้าประสงค์ไว้ว่าในระหว่างการอยู่ในหลักสูตรนี้นั้น และลามไปถึงชีวิตประจำวันหลังจากจบคอร์สแล้ว ผู้เข้าคอร์สจะเกิดสิ่งต่างๆเหล่านี้
- เกิดสัมมาทิฐิขึ้นมาภายในตน ตระหนักถึงความสำคัญของการเดินทางเข้าสู่ภายในใจตน เพื่อเข้าใจเหตุที่มาแห่งความสุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้น เข้าใจกระบวนการทำงานของจิตใจ และสามารถใช้สัมมาทิฐิเป็นเข็มทิศในการดำเนินชีวิตได้ในทุกมิติ
- เรียนรู้การเจริญสติในชีวิตประจำวัน โดยอาศัยลมหายใจเป็นหลักยึด (กายคตาสติ) เรียนรู้ที่จะละอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วกลับมาอยู่กับลมหายใจเป็นระยะๆ ให้เป็นนิสัย
- เรียนรู้ที่จะลด ละ ตัวตน ความเป็นตัวกู ของกู ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ดูแลเกื้อกูลผลประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง มีคุณธรรม ไม่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ลูกน้อง และบุคคลรอบข้างได้อย่างมีความสุขและเต็มประสิทธิภาพ
- มีภูมิคุ้มกันความทุกข์เมื่อเกิดอุปสรรคหรือความผิดพลาดขึ้นในชีวิต และเกิดปัญญาในการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี โดยสามารถพึ่งตนเอง มีความยืดหยุ่นและยอมรับโลกได้ตามความเป็นจริง
มัคคานุคา ผู้เดินตามมรรค
มัคคาเบื้องต้น ว่องวานิช
เมื่อจบการอบรมแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมจะค้นพบเพื่อนที่ดีที่สุดในชีวิตของตนเอง นั่นคือ...ลมหายใจ มีสติในการใช้ชีวิตมากขึ้น และมีปฏิสัมพัทธ์กับผู้อื่นได้ดีขึ้น เนื่องมาจากการรู้เท่าทันความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ของตนเอง ไม่ไหลไปตามสิ่งที่เข้ามากระทบหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น ละอารมณ์อัน เป็นอกุศลได้รวดเร็ว โดยการกลับมาตื่นรู้อยู่กับลมหายใจ และเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม เพราะเกิดสัมมาทิฐิ เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่บุคคลรอบข้างและสังคม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น